อาชีพช่างจูนเปีนโนในเมืองไทย จริง ๆ เป็นอาชีพที่น่าสนใจมากเลยครับ เพราะยังมีช่างฝีมือด้านนี้น้อยมาก แต่ระดับที่จูนเก่ง ๆ จริง ก็มีแทบนับคนได้ ทั้ง ๆ ที่เป็นอาชีพที่ทำเงิน ทำรายได้สูงกว่าเป็นครูสอนเปียโนอีกนะครับ (ระดับราคาจูนเสียง upright piano ขั้นต่ำก็ 1,200 บาทแล้ว สำหรับ grand piano ขั้นต่ำน่าจะ 2,000 บาท)
สมัยนี้ภาพที่เป็นคุ้นตาเมื่อช่างจูนเปียโนมาทำการจูนเสียง คือ มีอุปกรณ์จูนและก็มีเครื่องตั้งเสียง (Tuner) ซึ่งก็จะทำการจูนไปเรื่อย ๆ จากช่วงกลางของเสียงเปียโน ไล่ขึ้น ไล่ลง จนครบคีย์ การที่ช่างใช้วิธีจูนเช่นนี้จะได้เสียงที่เราเรียกว่า ระดับเสียงแบบแบ่งเท่า (Equal Temperament) ซึ่งผู้ที่นิยมชื่นชอบจนทำบทประพันธ์ขึ้นเป็นพิเศษแสดงถึงการไว้วางใจในระบบเสียงนี้ คือ J.S. Bach ซึ่งผลงานดังกล่าว คือ The Well-Tempered Clavier ซึ่งประกอบด้วย Prelude and Fugue ครบถ้วนทุกบันไดเสียงทั้ง Major 12 คีย์ และ minor 12 คีย์เลย นับเป็นปรากฏการณ์แรกที่เครื่องดนตรีคีย์บอร์ดสามารถเล่นได้ครบถ้วนทุกบันไดเสียงจากการจูนเสียงเพียงครั้งเดียว (ซึ่งก่อนหน้านี้ใช้ระบบการจูนเสียงแบบ Mean tone และ Just Intonation ซึ่งจะให้ความไพเราะในคีย์หลักที่ตั้ง แต่ไม่สามารถ modulation ย้ายคีย์ไปได้มากเพราะจะเกิดการเพี้ยนเสียง)
ระบบที่ช่างจูนเสียงใช้ tuner เป็นเครื่องมือในการตั้งเสียงนั้น สามารถเรียกอีกอย่างว่าเป็น ระบบ Cent เช่นเดียวกับ centimeter หรือ การแบ่งหน่วยเป็น 100 นั่นเอง เป็นระบบ ล็อคการึทึม (logarithmic) ของหน่วยวัดระยะห่างระหว่างขั้นคู่เสียง ถ้าให้อธิบายต่อทางคณิตศาสตร์ ผมก็คงไม่สามารถเหมือนกันครับ 555 แต่อยากให้นึกจินตนาการถึงเครื่องตั้งเสียงดนตรีที่เป็นระบบเข็ม มันจะปรากฏเลข 0 ตรงกลางใช่ไหมครับ ด้านขวาจะมี +1 ไปจนถึง +50 ด้านซ้ายจะมี -1 ไปถึง -50 รวมกันแล้วได้ 100 พอดี สมมติเราจะตั้งเสียง C ให้ตรง ก็ต้องให้เข็มชี้มาที่เลข 0 แต่ถ้าเกิดเข็มชี้ไปทาง +50 นั่นคือแนวโน้มไปหา C# ถ้ามาทางซ้าย แนวโน้มก็จะไปหา B อธิบายอย่างนี้คงพอเห็นภาพนะครับ
แต่ระบบที่กล่าวมานี้ เป็นการตั้งเสียงที่เป็นไปตามหลักคณิตศาสตร์นะครับ ซึ่งยังมีนักดนตรีอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังคงมีความเชื่อว่า ระบบเสียงที่ดี ต้องมาจากการตั้งเสียงโดยหูของมนุษย์เรานี่เอง ซึ่งสูตรการตั้งนี้มาจากประสบการณ์ของผมที่ติดตามช่างจูนเปียโนชาวจีนผู้หนึ่ง น่าเสียดายที่จำชื่อท่านไม่ได้แล้ว เพราะเหตุการณ์มันตั้ง 20 ปีผ่านมาแล้วครับ 555 แต่ยังโชคดีจำสูตรการตั้งเสียงได้ ผมมีโอกาสตามช่างจีนคนนี้ไปจูนเสียงและลองสังเกตวิธีการ ปรากฏว่า ช่างไม่ได้ใช้ tuner อะไรเลยครับ ใช้ส้อมเสียง (Tuning fork) อันเดียว ? แต่สามารถจูนได้ทุกคีย์บนเปียโน
สูตรดังกล่าวเป็นดังนี้ครับ ขึ้น ลง ขึ้น ลง ลง ขึ้น ลง ลง ขึ้น ลง ขึ้น
5555 บอกแค่นี้คงจะงงล่ะซิ ใช่ไหมครับ ส้อมเสียง (Tuning fork) นั้นให้เสียงเราได้เพียงเสียงเดียวครับ คือ ลา หรือ A ที่ 440 Hz นั่นคือ A ที่นับขึ้นจาก Middle C นั่นเอง ซึ่งเมื่อเราจูนเสียงได้ A แล้ว วิธีการใช้สูตรคือ ขึ้น หมายถึง ให้ขึ้นไปคู่ 5 perfect ลง หมายถึง ให้ลงต่ำมาคู่ 4 perfect ดังนั้นถ้าเอา A เป็นตัวเทียบ ช่างจูนจะต้องฟังขั้นคู่ 5 และ คู่ 4 perfect ต่าง ๆ นี้ด้วยตนเอง ช่างบอกว่า คนที่จะมาความสามารถในการฟังนี้ ต้องฝึกฝนอย่างนานครับ ถึงจะหูดี และต้องมีความสามารถในการเล่นเปียโนได้ดีด้วยถึงจะเข้าใจว่า เปียโนที่จูนเสียงเรียบร้อยแล้วนั่น เหมาะสมต่อการเล่นของนักเปียโน มีเสียงที่กลมกลืนกัน มีน้ำหนักที่เท่ากันทุกคีย์
คราวนี้ถ้าเอา A เป็นตัวตั้งแล้วปฏิบัติตามสูตรจะได้เสียงต่าง ๆ ปรากฏดังนี้ครับ
A ขึ้น = E , E ลง = B , B ขึ้น = F# , F# ลง= C# , C# ลง = G# , G# ขึ้น = D# , D# ขึ้น = A# (หรือ Bb) , Bb ลง = F , F ลง = C , C ขึ้น = G , G ลง = D
ได้ครบตามโน้ต chromatic ใน 1 octave พอดิบพอดี หลังจากนั้นก็เทียบเป็นลักษณะ Octave ไปตามคีย์ต่าง ๆ ทั้งเสียงสูงและเสียงต่ำ ทำไปเรื่อย ๆ ก็ครบทุกแป้นเองครับ ระหว่างการจูนแบบนี้ต้องใช้หูตลอดเวลาครับ เป็นการฝึก ear training ที่โหดมาก 555
บางคนอาจจะถามนะครับว่า แล้วทำไมไม่จูนให้มันเป็นลักษณะวงจรคู่ 5 ไปเลย (circle of fifth) ให้มันสิ้นเรื่องสิ้นราว ไม่เป็นต้องทำตามสูตรเลย ก็ต้องขอตอบว่า การตั้งเสียงเป็นคู่ 5 perfect นั้น เป็นการตั้งในอัตราส่วน 3/2 ครับ อธิบายง่าย ๆ คือ ถ้า C = 100 Hz C อีกตัวที่สูงกว่า 1 octave จะมีอัตราส่วน 2/1 หมายถึง = 200 Hz นั่นเอง ดังนั้นถ้าต้องการคู่ 5 ของ C ในกรณีนี้ก็คือ 100 คูณ 3 หารด้วย 2 = Hz ที่เป็นความถี่ของ G ครับ ซึ่งตามหลักการนี้เมื่อจูนมาเรื่อย ๆ เสียงจะสูงขึ้น สูงขึ้น จนไม่สามารถเล่นเป็นขั้นคู่เสียง หรือ คอร์ดอะไรได้เลย (ยิ่งอธิบายยิ่งยากเนอะ ถ้าอยากรู้ต้องมาเรียนหลักการ acoustic แล้ว)
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อจูนเสียงตามหลักที่ช่างจีนได้ใช้ ปรากฏว่าเสียงเปียโนฟังดูกลมกลืนกันดีมาก ผิดกับการจูนในปัจจุบันนี้ที่ฟังดูเสียงแข็งกว่า แต่ OK ครับ สำหรับใช้เล่น ใช้แสดง เพราะหูของมนุษย์มันก็ถูกปรับให้ชินกับแบบนี้ไปเสียแล้ว ที่เขียนมาก็เพียงเพื่อเล่าประสบการณ์ส่วนหนึ่งที่ผมเคยมีโอกาสเรียนรู้นอกห้องเรียนให้ท่านรับรู้ ถ้ามันจะเป็นประโยชน์หรือเอาไว้คุยต่อกันสนุก ๆ ก็ดีครับ
เพิ่มเติม
เท่าที่ลองศึกษาดูเสียงจะออกมาเหมือน การตั้งเสียงระบบ FISCHER ครับ (THE FISCHER SYSTEM OF SETTING TEMPERAMENT) สูตรของ นักเปียโนจีนคือขึ้น "ห้า" ลง "สี่" ของระบบ FISCHER จะขึ้น "ห้า" ลง "แปด" และขึ้น "ห้า" เสี่ยงที่ ลง "สี่" กับ ลง "แปด" และขึ้น "ห้า" จะมีความถี่เท่ากันครับ
THE FISCHER SYSTEM OF SETTING TEMPERAMENT ที่มา:Piano Tuning, by J. Cree Fischer, http://www.gutenberg.org/files/17571/17571-h/17571-h.htm |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น