หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2555

เดนนิส ดัตตั้น: ทฤษฎีความงามแบบดาร์วิน

ความสวยงามนั้นขึ้นอยู่กับผู้มองจริงหรือ? คนคนนี้คิดว่าไม่ เพราะเขาเชื่อว่ามันเชื่อมโยงกับทฤษฎีของ Charles Darwin ต่างหาก



Translated into Thai by Paninya Masrangsan
Reviewed by Tharit Tothong

เป็นเกียรติที่ได้มาที่นี่ และได้บรรยายเกี่ยวกับสิ่งที่สำคัญมากๆสำหรับผม ซึ่งก็คือความงาม ผมทำงานด้านปรัชญาทางศิลปะและความสุนทรีย์ เป็นอาชีพ ผมมีพยายามที่จะใช้ความรู้ ทางปรัชญา ทางจิตวิทยา เพื่อตอบว่าการรับรู้ความงามคืออะไร เรามีข้อมูลอะไรเกี่ยวกับมันบ้าง หลังจากที่ผู้คนมากมายพยายามกันมานักต่อนัก นี่เป็นประเด็นที่ซับซ้อน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า สิ่งต่างๆที่เราคิดว่าสวยงามนั้น มีหลากหลายเหลือเกิน ลองคิดดูสิครับ ทั้งใบหน้าของเด็กแบเบาะ เพลง "Harold in Italy" ของแบร์ลิออส ภาพยนตร์อย่าง "The Wizard of Oz" หรือละครของเชคอฟ ทิวทัศน์ของรัฐแคลิฟอร์เนียตอนกลาง ภาพวาดภูเขาไฟฟูจิของโฮคุไซ โอเปร่าอย่าง "Der Rosenkavalier" การทำลูกเตะประตูชัย ในนัดชิงแชมป์ฟุตบอลโลก ภาพ "Starry Night" ของ แวน โกฮ์ วรรณกรรมโดย เจน ออสเต็น เฟรด แอสแตร์ เต้นรำผ่านไปบนหน้าจอ ที่กล่าวมามีทั้งมนุษย์ รูปทรงในธรรมชาติ ผลงานทางศิลปะ และการกระทำจากทักษะของมนุษย์ คำนิยามของความงามที่ใช้ได้กับ ทุกๆสิ่งที่กล่าวมา คงไม่ง่ายนักที่จะหาได้



อย่างน้อยๆ ผมก็สามารถนำเสนอ ข้อมูลคร่าวๆของสิ่งที่ผมเรียกว่า ทฤษฎีที่มีอิทธิพลมากที่สุดด้านความงาม เท่าที่เราเคยมี ทฤษฎีนี้ไม่ได้มาจากปรัชญาทางศิลป์ ไม่ใช่จากนักวิชาการศิลปะโพสต์โมเดิร์น หรือนักวิจารณ์คนใหญ่คนโต ไม่ ทฤษฎีนี้ มาจากผู้เชี่ยวชาญ ด้านเพรียง หนอน และการสืบพันธุ์ของนกพิราบ คุณคงจะรู้ว่าใคร ชาร์ลส์ ดาร์วิน นั่นเอง แน่นอนว่า หลายๆคนคิดว่า ตัวเองรู้แล้วว่า ความงามคืออะไร ความงามขึ้นอยู่กับรสนิยมของแต่ละคน อะไรก็ตามที่กระตุ้นความรู้สึกของคุณ หรือที่บางคน โดยเฉพาะนักวิชาการเรียกว่า ความงามขึ้นอยู่กับรสนิยมทางวัฒนธรรม ของแต่ละคน ผู้คนเห็นด้วยว่าภาพวาด ภาพยนตร์ หรือบทเพลง มีความงาม เพราะสังคมของมนุษย์สอนให้เราชอบสิ่งคล้ายๆกัน ความพอใจจากความงามทั้งทางธรรมชาติและทางศิลปะ สามารถเข้าใจได้ โดยคนจากวัฒนธรรมต่างๆกันทั่วโลก ชาวญี่ปุ่นชื่นชอบบีโทเฟน คนประเทศเปรูรักภาพพิมพ์แบบญี่ปุ่น รูปปั้นอินคาถือว่าเป็นมรดก ของพิพิธภัณฑ์ในอังกฤษ ในขณะที่ วรรณกรรมของเชคสเปียร์ ได้รับการแปลเป็นภาษาหลักๆทุกภาษาทั่วโลก หรือพูดถึงดนตรีแจ๊ส หรือภาพยนตร์ของอเมริกา สิ่งเหล่านี้กระจายไปทุกที่ ศิลปะแต่ละชิ้นแต่ละอย่างแตกต่างกันมาก แต่คนในหลายๆวัฒนธรรม ก็กลับเห็นพ้องต้องกัน ในคุณค่าทางสุนทรียภาพ



เราจะอธิบายเหตุผล ของความเป็นสากลนี้ได้อย่างไร คำตอบที่ดีที่สุด คือการใช้ทฤษฎีการวิวัฒนาการของดาร์วิน มาอธิบายกระบวนการประเมินค่าทางความงาม ต้องคิดย้อนกลับไปในอดีต ว่ารสนิยมทางศิลปะของพวกเรานั้น เกิดขึ้นและคงอยู่มาถึงปัจจุบัน ได้อย่างไร ทั้งจากสมัยก่อนยุคประวัติศาสตร์ สิ่งแวดล้อมในยุคไพลสโตซีน ที่ถือว่าบรรพบุรุษของเราเป็นคนเต็มตัว และทั้งสิ่งแวดล้อมทางสังคม ที่นำวิวัฒนาการมาสู่มนุษย์ การคิดย้อนกลับนี้ ใช้ข้อมูลจากหลายแห่ง รวมทั้งบันทึกโบราณของมนุษย์ ที่ถูกสร้างในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ด้วย ซึ่งในที่นี้ ผมหมายถึงฟอสซิล ภาพวาดตามผนังถ้ำ เป็นต้น และเราก็ควรใช้ข้อมูล จากสิ่งที่พวกเรารู้ เกี่ยวกับรสนิยมของเผ่านักล่าในถิ่นทุรกันดาร ที่มีชีวิตรอดจนถึงศตวรรตที่19และ20ด้วย



ตัวผมเอง เชื่อมั่นมากๆว่า การรับรู้ถึงความงาม ในระดับอารมณ์และความพอใจที่แรงกล้า เกิดมาจากวิวัฒนาการทางจิตวิทยาของมนุษย์ ความสามารถในการเข้าใจความงาม เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ดาร์วินกล่าวถึง ความสวยงามเป็นขั้นตอนการปรับตัว ที่เราพัฒนา และสร้างขึ้น ในการสร้างสรรค์ และความรื่นรมณ์ ต่องานศิลปะและสิ่งบันเทิง หลายท่านอาจจะทราบ วิวัฒนาการประกอบไปด้วยกระบวนการ 2 ชนิดหลัก ๆ อย่างแรกคือการคัดเลือกโดยธรรมชาติ จากการเปลี่ยนแปลงและการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ ร่วมกับคุณสมบัติพื้นฐานทางกายภาพและสรีระ เช่น ที่มาของตับอ่อน ตา และ เล็บมือ การคัดเลือกโดยธรรมชาติใช้อธิบาย ความรู้สึกขยะแขยงได้ด้วย อย่างเช่น กลิ่นเหม็นของเนื้อเน่า หรือ ความกลัว เช่น การที่คนกลัวงู กลัวการยืนใกล้ปากเหว การคัดเลือกโดยธรรมชาติใช้ในการอธิบายความสุขได้เช่นกัน ความสุขทางเพศ ความชอบรสชาติของหวาน ของมัน และโปรตีน ซึ่งเป็นเหตุผลที่อาหารบางชนิดได้รับความนิยมสูง เช่น ผลไม้สุก ช็อคโกแล็ตมอลต์ และบาร์บีคิวกระดูกหมู



ปัจจัยสำคัญอย่างที่สองของกระบวนการวิวัฒนาการ คือความต้องการทางเพศ ซึ่งทำงานต่างจากกระบวนการอื่นๆ หางที่งดงามของนกยูง เป็นตัวอย่างที่คุ้นเคยกันดี มันไม่ได้มีวิวัฒนาการมาเพื่อความอยู่รอด ในความเป็นจริงแล้ว มันเป็นอุปสรรคด้วยซ้ำ เปล่าเลย หางของนกยูงน่ะ เกิดจากวิธีเลือกคู่ ของนกยูงตัวเมีย เรื่องเดิมที่เกิดขึ้นบ่อยๆ เป็นฝ่ายหญิงที่เป็นคนสร้างประวัติศาสตร์ แม้แต่ตัวดาร์วินเอง ก็เชื่อมั่นว่า หางของนกยูงตัวผู้ เป็นสิ่งสวยงามในสายตาของตัวเมีย เขาใช้คำพูดว่าอย่างนั้นเองจริงๆ ถ้าเราเข้าใจอย่างนั้นแล้ว เราก็สามารถพูดได้ว่า การรับรู้ความสวยงามเป็นวิธีที่วิวัฒนาการ ใช้ในการดึงดูดและรักษา ความสนใจ หรือแม้แต่ความหลงใหล เพื่อที่จะสนับสนุนให้เรา ตัดสินใจเลือกสิ่งที่เป็นประโยชน์มากที่สุด สำหรับการมีชีวิตรอดและการสืบพันธุ์ ความงามอาจเรียกได้ว่า เป็นการสื่อสารทางอ้อม ของธรรมชาติ เพราะคุณไม่มีทางได้รับคุณประโยชน์จากภูมิประเทศ ได้โดยตรงเหมือนการกินอาหาร และมันคงไม่ดีหากคุณกินลูกๆ หรือคนรักของคุณแน่ เช่นนั้นวิวัฒนาการจึงมีวิธีการ คือการทำให้พวกเขาดูดี สวยงาม ทำให้พวกเขามีแรงดึงดูดใจเหมือนแม่เหล็ก คุณรู้สึกพอใจเพียงแค่ได้มองพวกเขา



ลองนึกดูถึงแหล่งความงามที่สำคัญ แรงดึงดูด จากทิวทัศน์ที่สวยงาม ผู้คนจากวัฒนธรรมที่ต่างกัน จากทั่วโลก มีแนวโน้มที่จะชอบทิวทัศน์ที่คล้ายๆกัน เป็นภูมิประเทศที่บังเอิญคล้ายกับ ที่ที่บรรพบุรุษของเราอาศัยในยุคไพลสโตซีน วิวแบบนี้เห็นได้บ่อยๆใน ปฏิทิน โปสการ์ด ดีไซน์ของสนามกอล์ฟและสวนสาธารณะ และภาพเป็นในกรอบทองคำ ที่แขวนไว้ในห้องนั่งเล่น ทั้งในนิวยอร์คและนิวซีแลนด์ คล้ายกับสไตล์ศิลปะแนวฮัดสันริเวอร์ ที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ มีหญ้าปกคลุม แซกซ้อนไปด้วยต้นไม้ขนาดเล็ก ต้นไม้ที่น่าดึงดูดส่วนใหญ่ แยกกิ่งก้านบริเวณใกล้พื้นดิน หรือเรียกอีกอย่างว่า เป็นต้นไม้ที่คนตะกายขึ้นได้ ถ้าหากว่ามีอันตราย ทิวทัศน์ที่มองเห็น วิวของแหล่งน้ำ หรือแม้แต่สิ่งที่อาจจะเป็นน้ำอยู่ไกลๆ สิ่งที่บ่งชี้ถึงสัตว์หรือนก รวมถึงความหลากหลายในพันธุ์พืช และสุดท้าย ฟังดีๆนะครับ คือทางเดิน หรือถนน ไม่ว่าจะเป็นริมตลิ่งแม่น้ำหรือชายหาด ที่ทอดยาวไปสุดสายตา เหมือนกับเชิญชวนให้เดินตามทางนั้นๆ ทิวทัศน์แบบนี้ถือว่าสวยงาม แม้แต่สำหรับผู้คนจากบริเวณ ที่ไม่มีภูมิประเทศแบบนั้น ทิวทัศน์อุดมคติแบบซาวันน่า เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนว่า มนุษย์จากทุกๆแห่ง มองเห็นความงาม ในภาพแบบคล้ายๆกัน



แต่บางคนอาจบอกว่า นั่นมันคือความงามตามธรรมชาติ แล้วความงามทางศิลปะล่ะ ขึ้นอยู่กับสังคมโดยเฉพาะเลยใช่มั้ย ไม่ ผมไม่คิดว่าอย่างนั้น และอีกครั้ง ถ้าลองมองดูยุคก่อนประวัติศาสตร์ เพื่อที่จะพูดถึงเรื่องนี้ ส่วนใหญ่เรายอมรับกันว่า งานศิลปะที่เก่าแก่ที่สุดของมนุษย์ คือภาพวาดฝาผนังถ้ำที่น่าทึ่ง ที่ถูกค้นพบที่ถ้ำลาสโคซ์ และถ้ำโชเว ถ้ำโชเว มีอายุประมาณ 32,000 ปี และมีรูปปั้นเหมือนจริงขนาดเล็ก รูปผู้หญิงและสัตว์ต่างๆจากสมัยเดียวกันด้วย แต่ฝีมือทางศิลปะและงานฝีมือของมนุษย์ มีมานานมากกว่านั้นมาก สร้อยคอเปลือกหอยสวยงาม ที่ดูเหมือนสิ่งที่คุณอาจจะหาได้ที่งานศิลปหัตถกรรมสมัยนี้ หรือสีทาร่างกาย ถูกค้นพบ จาก 100,000 ปีที่แล้ว



แต่สิ่งที่น่าสนใจที่สุดของวัตถุโบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์ เก่าแก่กว่าสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมด สิ่งที่ว่านั่นคือ ขวานมือของวัฒนธรรมอาชูเลียน เครื่องมือหินที่เก่าที่สุดคือหินที่ใช้สับ จากช่องแคบโอลดูไวทางแอฟริกาตะวันออก ซึ่งมีอายุประมาณ2.5ล้านปี เครื่องมืออย่างง่ายพวกนี้ ถูกใช้งานเป็นเวลานานหลายพันศตวรรษ จนถึงประมาณ1.4ล้านปีก่อน เมื่อพวกโฮโมอีเรคตัส เริ่มลับหิน ให้เป็นแผ่นบางๆที่มีคม หรือบางครั้ง ก็ทำเป็นรูปไข่ แต่หลายครั้ง พวกเขาทำหินเป็นรูปทรง เหมือนใบไม้ที่มีสัดส่วนสวยงามดึงดูดสายตา ดูคล้ายรูปทรงของหยดน้ำตา ขวานมือแบบอาชูเลียนซึ่งถูกค้นพบครั้งแรก ที่บริเวณแซงต์อาซูลในฝรั่งเศส ในศตวรรษที่ 19 ยังสามารถพบได้เป็นพันๆชิ้น ทั้งในเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา เกือบทุกที่ที่พวกโฮโมอีเรคตัส และพวกโฮโมเออร์กัสเตอร์เคยอาศัย ถ้าคิดดูถึงจำนวนขวานมือที่เราค้นพบแล้ว คงสรุปได้ว่ามันไม่ได้ถูกทำขึ้นมา เพื่อฆ่าสัตว์ ที่น่าตื่นเต้นกว่านั้นคือ เมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องมือสมัยไพลสโตซีนอื่นๆแล้ว ขวานมือพวกนี้ ไม่มีรอยสึกหรอจากการใช้งาน บนขอบที่ละเอียดอ่อนของมันเลย บางชิ้นก็มีขนาดใหญ่เกินไป ที่จะใช้ฆ่าสัตว์ได้ ความสมมาตร วัสดุที่น่ามอง และที่สำคัญที่สุด คือทักษะช่างฝีมือชั้นดี ทำให้โบราณวัตถุพวกนี้ ดูสวยงามในสายตาคนสมัยใหม่อย่างเราๆด้วย



ดังนั้น วัตถุโบราณ ที่ทั้งเก่า ทั้งแปลกตา แต่ในขณะเดียวกัน กลับดูคุ้นเคยอย่างบอกไม่ถูก มันมีประโยชน์อะไร คำตอบที่ดีที่สุดที่เรามี คือพวกมันเป็น งานศิลปะที่เก่าแก่ที่สุดที่เรารู้ เห็นเครื่องมือที่ถูกดัดแปลง ให้เป็นของที่มีค่าทางความงาม ของรูปทรงที่สละสลวย และความเชี่ยวชาญทางงานช่าง ขวานมือเหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในวิวัฒนาการของมนุษย์ เครื่องมือที่สร้างใช้เป็น สิ่งที่ดาร์วินเรียกว่าสัญญาณทางสมรรถภาพ (fitness signals) ซึ่งหมายถึง สิ่งที่ใช้ในการแสดงออก เหมือนอย่างหางนกยูง เพียงแต่ว่า ไม่เหมือนกับขนหรือหาง เพราะขวานมือพวกนี้ ทำด้วยฝีมือมนุษย์ ขวานที่ถูกทำด้วยความชำนาญ หมายถึง ผู้ทำที่มีคุณสมบัติที่น่าปรารถนา ฉลาด การใช้กล้ามเนื้อที่ละเอียด ทักษะการวางแผน ความประณีต และบางครั้งก็หมายถึงความสามารถในการหาวัสดุหายาก ตลอดเวลาเป็นหมื่นๆรุ่น ทักษะเหล่านั้นนำมาซึ่งฐานะ แก่ผู้นั้นๆ ทำให้เขาได้เปรียบในด้านการสืบพันธุ์ มากกว่าคนอื่น ก็เหมือนกับประโยคเก่าๆที่ชอบใช้กัน ที่ก็ดูเหมือนว่าจะได้ผลมาตลอด "ทำไมคุณไม่มาเที่ยวถ้ำผมล่ะ เดี๋ยวผมจะได้ให้คุณดูชุดขวานมือของผม"



(หัวเราะ)



ยกเว้นแต่ เราไม่สามารถแน่ใจได้ว่า พวกโฮโมอีเรคตัส ที่ทำขวานมือเหล่านี้ สื่อสารกันอย่างไรโดยไม่มีภาษา มันยากที่จะจินตนาการ แต่มันเป็นความจริง โบราณวัตถุชิ้นนี้ ทำขึ้นมาโดยบรรพบุรุษตระกูลคน โฮโมอีเรคตัสหรือโฮโมเออร์กัสเตอร์ ประมาณ 50,000 ถึง 100,000 ปี ก่อนที่จะมีภาษาเสียอีก ด้วยเวลาที่ยาวนานเกินกว่าล้านปี วัฒนธรรมขวานมือ เป็นวัฒนธรรมที่ยาวนานที่สุด ในประวัติศาสตร์บรรพบุรุษตระกูลมนุษย์ ช่วงท้ายของตำนานขวานมือ โฮโมเซเปียนส์ ในที่สุด ก็ค้นพบวิธีใหม่ๆ สำหรับสร้างความบันเทิงในกลุ่ม ด้วยเรื่องตลก เรื่องเล่า การเต้นรำ หรือการแต่งผม ครับ การแต่งผม ผมขอย้ำเลย



สำหรับพวกเราคนสมัยใหม่ ความเชี่ยวชาญทางศิลป์ ถูกนำมาใช้ในการสร้างโลกในจินตนาการ ในงานวรรณกรรม ในภาพยนตร์ เพื่อที่จะสื่อถึงอารมณ์ที่แรงกล้า กับดนตรี ภาพวาด และการเต้นรำ แต่ว่า รากฐานอย่างหนึ่ง จากบรรพบุรุษของพวกเราก็ยังคงอยู่ ในความต้องการด้านความงาม ความงามที่เราพบ ในทักษะการแสดงต่างๆ จากถ้ำลาสโคซ์ ถึงพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ ถึงคาร์เนกีฮอลล์ มนุษย์เรา มีรสนิยมถาวรสำหรับศิลปะ มาตั้งแต่กำเนิด เราพบความงาม ในสิ่งที่ทำออกมาดี



ครั้งหน้าที่คุณเดินผ่านหน้าร้านขายเครื่องเพชร จัดแสดงรูปทรงสวยงาม เป็นหินรูปทรงหยดน้ำตา อย่ามั่นใจนัก ว่านั่นเป็นผลจากวัฒนธรรมที่สั่งสอนคุณ ว่าเพชรที่ส่องประกายอยู่ตรงนั้นเป็นสิ่งสวยงาม บรรพบุรุษของคุณก็ชอบรูปทรงนั้น และค้นพบความงามในการผลิตมันออกมา ก่อนที่ พวกเขาจะรู้จักคำว่ารักซะอีก ความงามเป็นส่วนหนึ่งของรสนิยมของแต่ละคนจริงหรือ ไม่เลย มันอยู่ลึกลงไปในจิตใต้สำนึก เป็นของขวัญ จากทักษะที่ชาญฉลาด และชีวิตที่เต็มไปด้วยอารมณ์ ของบรรพบุรุษที่เก่าแก่ที่สุดของเรา จากปฏิกิริยาของเราต่อรูปภาพ ถึงการแสดงอารมณ์ผ่านงานศิลปะ ถึงความงามทางดนตรี และท้องฟ้าราตรี ซึ่งจะอยู่กับเราและลูกหลาน ตลอดชั่วอายุขัยของมนุษยชาติ

ขอบคุณครับ



(ปรบมือ)

วันพุธที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2555

ต้นบรเทศ ออกแสนคำนึงชันเดียว (ระนาดคู่)

การแสดงจำลองบรรยากาศประชันระนาดแบบชนราง เพลง ต้นบรเทศ ออกแสนคำนึงชันเดียว