หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2558

วิเคราะห์ เนื้อเพลง เมโลดี้ การเรียบเรียง เพลง : ลูกอม

วิเคราะห์
เนื้อเพลง เมโลดี้ การเรียบเรียง
เพลง : ลูกอม
ศิลปิน : วัชราวลี

"ลูกอม"
เพลงที่อัพทิ้งไว้ใน YouTube
จู่ๆก็ทะยานถึง 88 ล้านวิว
เนื้อหาของเพลง "ลูกอม" ทั้งข้อมูล และการวิเคราะห์นั้นยาวมาก แอดมินขออนุญาตแบ่งเป็นตอนๆนะครับ
โดยจะแบ่งเป็น
ตอนที่ 1 ที่มาและความเป็นไป
ตอนที่ 2 วิเคราะห์เนื้อเพลง เมโลดี้ การเรียบเรียง
ตอนที่ 3 พฤติกรรมผู้ชมในยุคสมัยปัจจุบัน
ซึ่งแต่ละตอนนั้นน่าสนใจและมีส่วนทำให้เพลงนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากมาย

ตอนที่1 ที่มาและความเป็นไป

เชื่อว่าทุกคนต้องเคยฟังเพลงที่มีชื่อว่า "ลูกอม" ของวงวัชราวลี กันมาบ้างแล้วอย่างน้อยคนละ 1 ครั้งแน่ๆ ไม่ว่าจะมาจากสื่อต่างๆทั้ง YouTube วิทยุ โทรทัศน์และกลายเป็นเพลงที่จะต้องใช้ในงานแต่งงานแทบทุกงานในประเทศนี้ทีเดียว (และเชื่อว่าจะยังคงใช้ไปอีกนาน)
หลายคนอาจจะงงว่าทำไมเพลงถึงมีชื่อว่า "ลูกอม" ทั้งๆที่ไม่มีคำว่าลูกอม และไม่ได้พูดถึงของหวานใดๆในเนื้อเพลงด้วยซ้ำ บางท่านอาจจะทราบที่มาแล้ว แต่ขอร่ายประวัติกันอีกรอบ เพราะหลังจากนี้เราจะวิเคราะห์เพลงนี้กันยาวๆนะครับ
เพลงลูกอมเป็นเพลงที่วงเพื่อนๆกลุ่มหนึ่ง ที่จบจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ร่วมกันแต่งขึ้นมาเพื่อให้เป็นเซอร์ไพรซ์งานแต่งงานให้กับเจ้าสาวของอดีตมือคีย์บอร์ดของวง และเมื่อเพลงนี้ได้รับการตอบรับมาอย่างดีในอินเตอร์เน็ทและถูกถามไถ่เข้ามามาก ทำให้ทางวงต้องตั้งชื่อเพลงและตั้งชื่อวง
ในเมื่อเพลงนี้แต่งให้กับเจ้าสาวของเพื่อนคนนั้น เพลงนี้จึงถูกตั้งชื่อว่า "ลูกอม" ตามชื่อเล่นของเจ้าสาว (ตามที่เนื้อเพลงท่อนนึงพูดว่า "เพลงนี้เพื่อเธอ มันเป็นของเธอรู้ไหม" น่ารักจริงๆ นักดนตรีกลุ่มนี้) และใช้ชื่อวงว่า "วัชราวลี" ตามชื่อจริงของเจ้าสาวคนนั้นนี่เอง
นับจากตั้งแต่วันที่อัพโหลดคลิปเพลงนี้ลง YouTube เป็นครั้งแรกในวันที่ 31 ตุลาคมปี 2009 จนถึงวันนี้ ยอดวิวก็ทะยานขึ้นไปมากกว่า 88 ล้านวิว มียอด Subscribe แชนแนลถึง 150,000
นั่นไม่ได้เกิดขึ้นในข้ามคืน หรือข้ามเดือน มันใช้เวลาข้ามปีด้วยซ้ำ
ถ้าเราเข้าไปดูกราฟยอดชมคร่าวๆใน YouTube เพลงนี้อัพโหลดทิ้งไว้เกือบ 2 ปีด้วยซ้ำ ก่อนที่จะได้รับความนิยมแบบก้าวกระโดดจากการไลค์ การแชร์ลงโซเชียลมีเดียโดยผู้ฟังทั่วไปในช่วงปลายปี 2011 และยังคงมียอดชมต่อเนื่องเพิ่มขึ้นมาจนทุกวันนี้ สร้างรายได้จากการเข้าชมคลิปวีดีโอและต่อยอดถึงการโชว์การแสดงสดในเวลาต่อม

ตอนที่ 2 วิเคราะห์เนื้อเพลง เมโลดี้ การเรียบเรียง

อะไรทำให้เพลงนี้กลายเป็นที่นิยมถึงขนาดนั้น เรามาวิเคราะห์กันครับ ทั้งเนื้อเพลง ทำนอง และการเรียบเรียงดนตรีเสียงประสาน (ตามความเข้าใจที่อ่อนด้อยของแอดมินเอ็กซ์นะครับ 555)
การเรียบเรียง ด้วยตัวเพลงถูกเรียบเรียงในโครงสร้างของเพลงป๊อปสมัยนิยมที่มีมานานโดยแบ่งแต่ละส่วนด้วยเมโลดี้หรือทำนองนั่นเอง คือ "เอ-บี-ฮุค เอ-บี-ฮุค-โซโล่-ฮุค " นั่นทำให้คนฟังเข้าใจง่ายครับ ไม่ต้องใช้ความคิดทำความเข้าใจโครงเพลงแปลกใหม่เพิ่มเติม
(สำหรับคนที่ไม่เข้าใจคำว่าเมโลดี้หรือทำนอง ลองฮัมเพลงลูกอมแทนการร้องดูครับ ชุดตัวโน้ตที่ฮัมออกมา นั่นล่ะครับ เมโลดี้ ไว้คราวหน้าเรามาพูดคุยเกี่ยวกับโครงสร้างเพลงโดยการแบ่งด้วยเมโลดี้ ในรูปแบบต่างๆนะครับ พร้อมยกตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายๆครับ)
เพียงแต่เพลงลูกอมไม่ต้องมาตีความสร้างโซโล่ใหม่ ใช้ท่อนดนตรีที่เชื่อมระหว่างหลังฮุคแรก และเข้าเอ2 มาใช้อีกครั้งแทนโซโล่ได้เลย
การขึ้นอินโทร ก็ใช้เปียโนตัวเดียวบรรเลงขึ้นมาด้วยเมโลดี้การร้องของท่อนฮุคทำให้คนฟังจดจำเพลงได้ง่าย
พอเข้าท่อนเอ1ไปครึ่งนึง ค่อยสอดกีตาร์เข้ามา
พอถึงก่อนท่อนฮุคครึ่งแรกก็ค่อยปล่อยกลอง คีย์บอร์ด เสียงร้องประสาน ฮุคครึ่งหลังก็ตามด้วยเสียงเครื่องเป่า
เราจะได้ยินการสอดประสานเครื่องดนตรีเข้ามาทีละไลน์อย่างสวยงามราวกับสายรุ้งแห่งเสียงทีเดียว
เห็นเป็นรูปแบบเพลงป๊อปๆฟังสบาย ใช่ว่าจะคิดง่ายๆนะครับ ยิ่งฟังดูง่าย ยิ่งยากที่จะทำให้ออกมาให้อร่อยหู เพราะต้องทำอะไรที่ออกมากลมกล่อมและไม่มีอะไรโดดแปลกแยกออกมา
สิ่งที่ต้องชมมากๆอีกสิ่งหนึ่งสำหรับเพลงนี้คือ การร้องที่ชัดเจนครับ สังเกตไหมครับว่ามิวสิกวีดีโอสมัยใหม่ มักจะมีเนื้อร้องขึ้นด้านล่างให้ดู หรือเป็น Lyrics M.V. เพื่อช่วยให้คนฟังเห็นว่าเพลงกำลังร้องว่าอะไรอยู่เพื่อทำความเข้าใจเพิ่มเติม
แต่เพลงนี้ไม่จำเป็นครับ คลิปที่ทางวงปล่อยมา เป็นภาพนิ่งๆ ไม่มีเนื้อเพลงบอกใดๆทั้งสิ้น แต่คนฟังได้ยิน ได้รู้และเข้าใจทันทีในตอนนั้นจากการร้องที่ชัดเจน ชัดถ้อยชัดคำครับ
บวกด้วยเนื้อร้องที่สุดแสนจะโรแมนติก ทำให้คนฟังเข้าใจและเข้าถึงสิ่งที่เพลงนี้ต้องการสื่อสารออกมาได้ง่ายดาย
ตอนฟังครั้งแรก เพลงนี้ขึ้นมาแบบเพลงป๊อปชั้นดีทั้งเนื้อร้องและเมโลดี้ที่มีสไตล์โซลนิดๆ พยุงคนฟังให้ไปต่อด้วยกันได้
แต่หมัดที่น็อคแอดมินลงไปกองนับ 10 ตั้งแต่ฟังครั้งแรก และต้องฟังวนไปวนมากกว่า 30 รอบคือ ท่อนบีครับ โอ้โห!!!
เมโลดี้เด็ดขาดบาดใจ เหมาะเจาะลงตัวกับเนื้อร้องเป็นที่สุด
และคลี่คลายลงอย่างสวยงามทั้งเมโลดี้และเนื้อร้องในท่อนฮุค เป็นเพลงกลมกล่อมชั้นดีโดยที่ไม่ต้องแปลกใจเลยว่าทำไมถึงมีคนชอบขนาดนี้
เนื้อเพลงท่อน เอ2 หลังฮุคแรก นี่สำคัญนะครับ สำหรับนักแต่งเพลงหลายๆคน ขอบอกว่าท่อนนี้มักจะถูกแต่งเป็นส่วนสุดท้าย
เพราะการเล่าเรื่องในการแต่งเพลงนั้น ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการ
ปูเรื่อง - เผชิญปัญหา - คลี่คลายหาทางออก
ซึ่งจะใส่ลงในท่อน เอ1 บี1และฮุคแรกไปแล้ว เอาล่ะซิ แล้วเราจะเล่าอะไรที่อยู่ในเนื้อเรื่องอีกในท่อน เอ2 โดยไม่ให้รู้สึกซ้ำกับเรื่องราวในเพลงที่ร้องไปรอบนึงแล้วกันนะ
ซึ่งถ้าลองสรุปเรื่องของเพลงลูกอม จะเป็นอย่างนี้ครับ(กางเนื้อเพลงตามกันไปเลยครับ 55)
เอ1 - ปูเรื่อง - บรรยายให้เห็นภาพถึงภาพบรรยากาศรอบตัวของคนสองคนที่รักกัน
บี1 - เผชิญปัญหา - ความไม่แน่นอนของปัจจัยภายนอก
ฮุคแรก - คลี่คลายหาทางออก - ให้สัญญาว่าจะมอบความรัก และความสุขที่มีจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง
พอถึงท่อน เอ2 สิ่งที่ผู้แต่งเพลงใส่เรื่องลงไปคือท่อน “สาเหตุ” ครับ
เอ2 - สาเหตุที่ทำให้เกิดผลในท่อนฮุค(ให้สัญญาว่าจะมอบความรัก และความสุขที่มีจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง)
.........คือถ้าท่อนนี้เป็นฉากในละครทีวี ท่อนนี้จะเป็นฉากสีซีเปียน่ะครับเพราะเป็นภาพอดีตที่เกิดก่อนท่อน เอ1 ซะอีก 5555
สำหรับผู้ที่เริ่มแต่งเพลง ถ้าเราอยากลองแต่งเพลงของเราบ้าง ก็ลองแบ่งโครงเรื่องเป็นสามส่วนดูครับ เราจะได้เพลงที่มีการดำเนินเรื่องอย่างลื่นไหลและเป็นเหตุเป็นผล สอดคล้องกันครับ
และนี่เป็นตอนที่ 2 ของซีรี่ยส์เพลงลูกอม ว่าด้วยการวิเคราะห์เนื้อเพลง เมโลดี้ การเรียบเรียง
คราวหน้ามาพบกับตอนที่ 3 พฤติกรรมผู้ชมในยุคสมัยปัจจุบัน ที่เป็นส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้เพลงนี้ประสบความสำเร็จครับ

ตอนที่ 3 พฤติกรรมผู้ชมในยุคสมัยปัจจุบัน


สำหรับวงการเพลง ก่อนหน้าที่จะเข้าสู่ยุคทีวีการสร้างฐานแฟนเพลงก็จะเริ่มจากกลุ่มผู้ฟังในท้องถิ่นก่อนแล้วค่อยๆขยายไปในวงกว้าง
พอเข้าสู่ยุคทีวีพฤติกรรมคนฟังก็เปลี่ยนไปเป็นรอรับชมจากทีวีว่ามีวงไหนที่ออกมาช่วงนี้
จากการที่ค่ายเพลงคัดสรรและปลุกปั้นสร้างเสริม ขับเน้นภาพลักษณ์ และนำเสนอมาให้ผู้ชมเสพดนตรีนั้นๆ
พอเข้าสู่ยุคอินเตอร์เน็ท พฤติกรรมของผู้ชมก็กลับไปสู่ยุคก่อนมีทีวีครับ

แต่ตอนนี้โจทย์ในการสร้างฐานแฟนจะไม่ได้ได้เริ่มจากภูมิศาสตร์ที่อยู่ในท้องถิ่นเดียวกันก่อนสมัยยุคมีทีวี แต่จะเริ่มจากความชอบร่วมกันและการเข้าถึงเนื้อหาที่วงดนตรีสื่อออกไปได้พร้อมกันทั้งๆที่อาจจะอยู่ห่างกันคนละทิศของประเทศหรือของโลก

และด้วยเว็บไซท์วีดีโออย่าง Youtube จะแบ่งปันค่าโฆษณาให้สื่อผู้อัพโหลดวีดีโอนั้นๆ ซึ่งถ้ามีผู้ชมจำนวนมากก็จะได้รับส่วนแบ่งมามากตามจำนวนยอดวิวอีก(ยังไม่นับยอดSubscribe ที่ถ้ามีผู้ติดตามถึงจุดเท่านี้ๆ ก็จะได้รับเงินสนับสนุนจาก YouTube อีกต่อนึง ซึ่งเรื่องเกี่ยวกับการสร้างรายได้จากการแต่งเพลงลง YouTube เดี๋ยวจะให้แอดมินซังมาอธิบายเพิ่มเติมในคราวหน้านะครับ เพราะแอดมินซังเป็นยอดยุทธในยุทธจักรการทำเพลงลง YouTube คนนึงเลยทีเดียว 555)

************************

ยุคทีวีนั้น ถ้าเราอยากเป็นศิลปินออกผลงานซักชุด ค่าใช้จ่ายต่างๆก็จะเป็นกำแพงให้ผู้สร้างงานเกิดชะงัก
ไหนจะค่าห้องอัดเสียง ไหนจะค่าปั๊มเทปหรือซีดี ไหนจะค่าการตลาดในการโปรโมต ไหนจะผู้จัดจำหน่ายที่มีความสามารถในการกระจายผลงานของเราไปในพื้นที่ต่างๆอีก

ค่ายเพลงจะมาซัพพอร์ตตรงจุดนั้นครับ เค้าจะลงทุนค่าห้องอัด ค่าปั๊มเทปหรือซีดี วางแผนการตลาด ซื้อเวลาโทรทัศน์เพื่อโปรโมต และเป็นผู้จัดจำหน่ายในตัวเอง

สมมุติว่า 1 หน่วยของอัลบั้มที่ถูกขายไป 1 อัลบั้มราคา 100 บาท ส่วนแบ่งจะกลับมาถึงศิลปิน ราวๆ 1 บาทต่อหนึ่งหน่วยครับ
เพราะรายได้เองก็จะต้องปันออกไป หักลบกลบหนี้ค่าห้องอัด ค่าผลิตเทปหรือซีดี ค่าซื้อเวลาโทรทัศน์ และจ่ายเงินเดือนพนักงานในส่วนต่างๆของบริษัท เพื่อให้องค์กรอยู่รอด (มีช่วงหนึ่งที่ปกเทปจะมีโฆษณาของสินค้าต่างๆอยู่ ก็เพื่อมาช่วยพยุงค่าใช้จ่ายในการผลิตเบื้องต้นนี่ล่ะครับ)

ส่วนค่าจ้างงานโชว์ต่างๆ ก็ใช่ว่าศิลปินจะได้เต็มๆหลังหักภาษีนะครับ เพราะมีส่วนหนึ่งถูกหักเข้าบริษัทไปราวๆ 15 - 20% เพื่อไปเป็นค่าใช้จ่ายภายในบริษัทเช่นกัน

และสิ่งที่เรียกได้ว่าเจ็บปวดระยะยาวก็คือ ลิขสิทธิ์การเป็นเจ้าของเพลง ไม่ว่าจะเป็นทั้งที่มีนักแต่งเพลงแต่งหรือ ทางตัวศิลปินแต่งเอง ลิขสิทธิ์จะตกเป็นของบริษัททั้งหมดครับไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ร้อยล้านปี
เพราะว่าเป็นข้อตกลงว่างานที่ผลิตทั้งหมดเป็นการจ้างผลิตโดยบริษัท โดยมีค่าตอบแทนที่ส่วนใหญ่เป็นเงินหลักหมื่นต่อเพลง โดยแยกเป็น เนื้อร้อง ทำนอง การเรียบเรียง

โอย ปวดร้าวซะขนาดนั้นแล้วทำไมศิลปินส่วนใหญ่ยังเลือกที่จะเป็นศิลปินที่มีค่ายอยู่ล่ะ ก็ตามที่ว่ามาข้างต้นล่ะครับ
ทางตรงคือ ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นนั้นสูงและค่ายเพลงก็มีทุนรอนในการลงทุนไปก่อน รวมทั้งมีช่องทางให้เรานำเสนอผลงานออกสู่สายตาประชาชนเพราะค่ายซื้อเวลาทีวีครับ
ทางอ้อมคือ ค่ายเพลงมีฐานแฟนคลับของค่ายเพลงครับ เพราะสั่งสมการทำธุรกิจมานาน มีกลุ่มคนที่รอฟังผลงานที่ออกโดยค่ายเพลงนี้ รายการเพลงทางวิทยุทั่วประเทศเองก็ต้องเปิดเพลงที่ผู้ฟังขอมาเพื่อพยุงความนิยมคลื่น วิทยุเค้าก็ต้องทำธุรกิจเพื่ออยู่รอดเช่นกันครับ

ยิ่งช่วงที่ค่ายหลักในเมืองไทย 2 ค่ายเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ พวกเค้าก็ผุดค่ายย่อยออกมามากมาย เร่งผลิตอัลบั้มออกมาเยอะๆเพื่อแสดงให้ผู้ถือหุ้นเห็นถึงกิจกรรมทางธุรกิจและตัวเลขกำไรต่อการทำอัลบั้มทั้งหมดครับ

สมมุตินะครับสมมุติ.....เมื่อก่อนมีการออกอัลบั้ม 100 อัลบั้มต่อปี หักลบต้นทุนแล้วมีกำไร 100 บาท
พอเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ค่ายเพลงเพิ่มการผลิตเป็น 200 อัลบั้มต่อปี หักลบต้นทุนแล้วมีกำไร 150 บาท ถึงดูไม่มีประสิทธิภาพนักแต่ยังไงก็ได้เงินมากขึ้นอยู่ดี เค้าก็เลือกที่จะทำครับ เพราะเมื่อบริษัทกำไร ผู้ถือหุ้นก็ต้องการซื้อเพื่อลงทุน ทำให้มูลค่าตัวบริษัทเพิ่มมากขึ้นตามกลไกตลาด

แต่พอศิลปินมากขึ้น2เท่า เวลาในการโปรโมตทางช่องทีวีดันไม่เพิ่มขึ้น 2 เท่า รวมถึงการผลิตที่เน้นเร่งจำนวนปริมาณตามเด๊ดไลน์จนไม่มีเวลาเจาะลึกถึงคุณภาพ ทำให้ศิลปินยุคตลาดหลักทรัพย์ที่ขายไม่ได้ก็จะหายไปจากการโปรโมตอย่างรวดเร็ว ส่วนพวกที่ขายได้ ก็ทำซ้ำๆกับพวกที่เคยขายได้ ทำให้เพลงมีแต่คล้ายๆกันหมด ท้ายที่สุดคนฟังก็เริ่มเบื่อ และเริ่มไม่เห็นคุณค่าของเพลงเพราะมันมีมากมายและก็คล้ายกันไปซะหมด

*************************

แล้วก็มาถึงยุคเชื่อมต่อระหว่างยุคทีวีกับยุคอินเตอร์เน็ทครับนั่นก็คือ ยุคดิจิทัล
ยุคนี้เรามีอินเตอร์เน็ทใช้กันบ้างแล้วแต่ความเร็วยังคงไม่สามารถดูวีดีโอสตรีมสดๆได้
และแล้วเค้าก็มาครับ พี่ MP3 ในตำนานนี่เอง

ค่าใช้จ่ายจากการผลิต การตลาดทุกอย่างยังเหมือนเดิมแต่รายได้จากการขายอัลบั้มลดลงจากเดิมมาก ทำให้ค่ายต้องปรับตัวบางอย่างในเชิงธุรกิจ โดยหันไปลงทุนกับสิ่งอื่นที่ไม่ใช่ดนตรีมากขึ้น เช่นละคร ลิขสิทธิ์กีฬาแทน
ทางสายธุรกิจดนตรีก็มีการลดงบประมาณลง ในค่าการผลิตและค่าการตลาด รายการที่เป็นรายการมิวสิควีดีโอเพลงโดยเฉพาะบนโทรทัศน์ก็ลดน้อยลงและหายไป

อ่าห์แล้วเราจะโปรโมตงานกันทางไหนละเนี่ย วงการเพลงเมนสตรีมเข้าสู่ยุคมืดจริงๆ ส่วนวงการเพลงของศิลปินอิสระเค้าก็ยังพออยู่กันได้เสมอมาตั้งแต่ยุคโทรทัศน์ โดยการใช้วิธีการโปรโมตแบบปากต่อปาก ชวนกันไปดู ชวนกันไปซื้อสินค้าของวง สร้างฐานแฟนเพลงที่เหนี่ยวแน่น

*************************

และในช่วงยุคต่อมา แนวทางของเพลงใต้ดินก็กลายมาเป็นแนวทางหลักของศิลปินสมัยนี้ครับ
เพราะการมาของ 4 สิ่งคือ เทคโนโลยีการบันทึกเสียง,อินเตอร์เน็ทความเร็วสูง,ช่องทางเผยแพร่อย่าง YouTube และสุดท้าย Social Media
-เทคโนโลยีการบันทึกเสียงนั้นสะดวกขึ้นมาก เราสามารถทำงานเพลงจบในคอมพิวเตอร์ตัวเดียวได้เลย โดยไม่ต้องพึ่งพาห้องอัดขนาดใหญ่ราคาเช่าแพงอีกต่อไป และได้คุณภาพที่โอเคระดับหนึ่งเลยทีเดียวทำให้ต้นทุนส่วนนี้ลดไปมาก

-อินเตอร์เน็ทความเร็วสูง สามารถทำให้เราส่งต่อข้อมูลกันได้อย่างรวดเร็ว ยุคนี้แม้แต่เพลง MP3 ที่ทำมาลงแผ่นก็ขายไม่ดีเหมือนเดิมอีกแล้ว เพราะคนส่วนใหญ่ส่งให้กันฟรีๆ และการอัพโหลดลงเว็บสตรีมก็ไม่ต้องรอกันนานเป็นสิบๆนาทีอีกต่อไป เร็วกว่าต้มบะหมี่ซะอีก 5555 แถมส่งให้กันปุ๊บกดดูกันปั๊บ สะดวกจะตาย

-YouTube ช่วงแรกๆนั้น YouTube มาในรูปแบบของเว็บฝากไฟล์วีดีโอที่คนทั่วโลกก็สามารถดูได้ผ่านเว็บโดยที่ไม่ต้องโหลดลงเครื่องก่อนแล้วค่อยดู ไปๆมาๆ ก็เริ่มมีการอัพเพลงเก่าๆ มิวสิควีดีโอเก่าๆลง ทำให้ผู้ฟังเพลงเริ่มใช้บริการกันมากขึ้น
จนกระทั่ง YouTube เปิดพื้นที่โฆษณา และให้ส่วนแบ่งโฆษณาจากยอดวิวแก่ผู้อัพโหลดวีดีโอนั้นเท่านั้นแหละ สิ่งนี้ก็กลายเป็นช่องทางหลักในการโปรโมตผลงานทันที แม้แต่ค่ายเพลงต่างๆที่ถือลิขสิทธิ์เพลงเก่าๆ จากที่ไม่หือไม่อือกับผู้ที่อัพโหลดเพลงมาลงก็แจ้งไล่ลบวีดีโอพวกนั้น และลงใหม่ในช่อง YouTube ของตน

-Social Media การบอกต่อปากต่อปากนี่แหละได้ผลดีนัก ดูได้อย่าง "เพลงลูกอม" ที่เราใช้เป็นตัวอย่างในการวิเคราะห์เมื่อตอนที่แล้ว สิ่งที่ทำให้เพลงนี้เกิดการรู้จักในวงกว้างหลังจากที่อัพโหลดเพลงทิ้งไว้ 2 ปี ก็คือ Social Media นี่ล่ะครับ ช่วยๆกันแชร์ออกไป
(เห็นร่ำๆว่าทาง Facebook มีนโยบายแบ่งส่วนแบ่งโฆษณาให้กับผู้อัพโหลดวีดีโอผ่าน Facebook ด้วยนะครับ ซึ่งก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าอย่างไร)

ศิลปินอิสระสมัยนี้ใช้ทุกอย่างขั้นต้นนี่เป็นเครื่องมือล่ะครับในการลดต้นทุนผลิต การช่วยประหยัดเวลา ช่องทางการโปรโมตในการสร้างฐานแฟนเพลง

คราวนี้ถ้าวงประสบความสำเร็จก็จะได้รายได้จากยอดวิว และการจ้างไปเล่นคอนเสิร์ตเพราะมีฐานแฟนเพลง(โดยที่ไม่ต้องหักเข้าค่าย) และเมื่อถึงเวลานี้ ทางค่ายก็จะมาจีบครับ เพราะเรามีสิ่งที่มีค่าที่สุดคือฐานแฟนเพลง ซึ่งเมื่อถึงเวลาที่ค่ายเข้ามาจีบในตอนนั้น ส่วนใหญ่เราก็ไม่ต้องการค่ายอีกแล้ว 5555 ยังไม่รวมรายได้จากการโหลดเพลงจากเว็บขายเพลงออนไลน์ และการถูกใช้เป็นเสียงรอสายโทรศัพท์อีกนะครับ

**************************

เรามาถึงยุคที่คนที่ไม่ได้ออกทีวีสามารถหารายได้จากงานบันเทิงเป็นกอบเป็นกำ และขณะเดียวกันคนที่ออกทีวีก็ไม่ได้แปลว่ามีชื่อเสียง
เมื่อพฤติกรรมผู้ชมเปลี่ยน พฤติกรรมในการสร้างงาน ในการนำเสนอผลงานก็ต้องเปลี่ยนไปครับ ลองแต่งเพลงและบันทึก อัพโหลดลง YouTube ดูครับ ไม่แน่ซักวันหนึ่งเพลงที่คุณอัพทิ้งไว้แบบเพลงลูกอม อาจจะได้รับความนิยมในอนาคตแบบที่คุณไม่รู้ตัวก็ได้ ใครจะรู้

เพราะยุคนี้.....ใครๆก็เป็นศิลปินได้ครับ

เรียบเรียงโดย
https://www.facebook.com/WeWritetheSongs
ที่มา
[1]https://www.facebook.com/WeWritetheSongs/photos/a.1464508353869078.1073741829.1464157610570819/1471170689869511/?type=1
[2]https://www.facebook.com/WeWritetheSongs/posts/1471607989825781:0
[3]https://www.facebook.com/WeWritetheSongs/photos/a.1464508353869078.1073741829.1464157610570819/1472526316400615/?type=1